Friday, November 11, 2016

ถอดความ Peter Zumthor: Different kinds of Silence (ตอนที่ 1)

Peter Zumthor: Different kinds of Silence ตอนที่ 1
credit video: https://youtu.be/lufVOqRWpLQ?list=PLKERropLWW3kZHImsCbgy8e2JqBBgTKYE



            วันนี้อยากนำเสนอแนวคิด ใจความสำคัญที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ฟังวีดีโอจาก Peter Zumthor สถาปนิกชาวสวิสเซอร์แลนด์ผู้มีชื่อเสียงระดับกับการออกแบบอาคารที่สถาปนิกหลายคนนั้นยอมใจให้กับความงามที่เกิดขึ้นจากความคิดของเขา

            ครั้งนี้ผู้เขียนมีความสนใจจะถอดแนวความคิดการสัมภาษณ์ ในหัวข้อ "ความเงียบสงบ" (Silence) ของ Peter Zumthor ซึ่งไม่ได้เล่าเพียงแค่หัวข้อพูดคุยแต่บรรจุเรื่องราวที่ค่อยๆประติดประต่อประสบการณ์ของเขาจนกลายเป็น "ทัศนคติ" (vision) ที่เขามีต่อสถาปัตยกรรม ซึ่งมีอยู่หลายประเด็นในการสัมภาษณ์นี้ ผู้เขียนจะขอเล่า (สรุป) ใจความที่ได้ฟังมาแบ่งปันกัน

"ความเงียบที่หลากหลาย" และ "การฟัง" 

            เรื่องราวเริ่มถูกท้าวความเมื่อครั้งที่คุณ Peter Zumthor ย้ายไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์คในปี 68 ได้สัมผัสกับความแปลกใหม่ของสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคมพร้อมกับภรรยาของเขา ผู้ยังไม่คุ้นเคยชีวิตในเมืองที่ช่างแตกต่างจากชนบทที่จากมา ทุกอย่างดูผิดจากสิ่งที่เขาคิดเอาไว้อย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งครั้งนึงเขาได้มีโอกาสพานักศึกษาไปทำโปรเจคเพื่อศึกษาเรื่อง "เสียงในทิวทัศน์ (The Sound of Landscape)" [ขยายความ: เสียงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ] บนที่ราบสูงแห่งหนึ่งในลอสแองเจิลลิส เมื่อเขาเห็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ เงาของภูเขาที่ทอดลงบนผืนหญ้าของเนิน ดอกไม้ที่เหี่ยวเฉาเริ่มเปลี่ยนฤดู จุดนี้เองที่เขารู้สึกว่าพื้นที่ลักษณะนี้ จิตวิญญาณของเขากลายเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น
         
           และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของคำถามว่า "คุณคิดว่าคุณต้องการความเงียบสงบ (เสียงที่ได้ยิน) เพื่อทำให้คุณเกิดแนวคิดอะไรบางอย่างขึ้นมามั้ย (ในคำว่า "แนวคิด" ที่นี้ใช้คำว่า creative) ?"

           Peter Zumthor ตอบกลับว่า แม้สถานที่เขาจากมา (ในเมือง) มีความสะดวกสบาย เดินทางไปสนามบินได้ใน 15 นาทีเพื่อไปคุยงาน แต่ว่าพื้นที่ (ฟาร์ม) แห่งนี้ มีสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับการทำงานของสตูดิโอของเขากับนักศึกษาในการเรียนรู้ตัวโปรเจค (sound of landscape) แต่ละคนได้มีโอกาสสร้างงานของตัวเองในพื้นที่นี้ ที่ที่ไม่ต้องแบ่งพื้นที่เป็นห้องๆเหมือนพื้นที่ในเมือง แต่ทุกคนได้มีโอกาสหาพื้นที่รอบๆนี้ สร้างงานและเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองสนใจ

           [ขยายความ: Peter Zumthor มองนักศึกษาเป็นศิลปิน ที่กำลังจะลงมือสร้างสรรค์งานออกมา แทนที่จะอยู่แต่ในเมือง (Urban) สร้างงานในที่แคบ เปรียบเทียบกับศิลปินที่สร้างสรรค์งานในพื้นที่ทิวทัศน์แบบฟาร์มแห่งนี้ งานที่ออกมาจึงแตกต่างกัน]

           เขายังเสนอเพิ่มเติมว่า ใน "พื้นที่เมือง" นั้น อุดมไปด้วยเสียงจากสิ่งต่างๆมากมาย ทั้งเสียงของผู้คน การใช้ชีวิต เสียงลม จนมันดูเหมือน "มหาสมุทรเสียง (Ocean of sound)" ที่พัดมาหาเขา ซึ่งทำให้เขาต้องอาศัย "สมาธิ" เพื่อที่จะรับฟังเสียงเหล่านั้น ในการตั้งสมาธินี้เอง เขาก็ต้องอาศัย "ความเงียบที่หลากหลาย (Different kinds of Silence)" เพื่อที่จะทำให้เราได้ยิน (สื่อสาร) กับเสียงนั้นได้รู้เรื่อง ถ้าเราอยากจะได้ยินเสียงอะไรสักอย่าง คงต้องตั้งใจฟัง แทบจะต้องเดินไปเพื่อจะได้ยินเสียงนั้นชัดเจน (แม้ว่าจะวุ่นวายสักแค่ไหน) นั่นจึงเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจพานักศึกษาออกมาพื้นที่แห่งนี้

           [ขยายความ: ผู้เขียนมองว่า Silence ในที่นี้ Peter Zumthor มีแนวคิดว่า เมื่อเราได้ยินเสียงใด นั่นถือว่าเกิดความเงียบขึ้นแล้ว ซึ่งความเงียบนั้นคือระดับที่ทำให้เราได้ "สื่อสาร" "ได้ยิน" เสียงๆนั้น ดังนั้นคำว่า "ความเงียบสงบ" (Silence) จึงไม่ได้หมายถึงสภาวะที่ไม่มีเสียงใดๆ]


จบ section 1 
โปรดติดตามตอนต่อไป

+++++++++

           จากมุมมองที่คุณ Peter Zumthor กล่าวนั้น ในมุมมองของผู้เขียน เหมือนการตอบคำถามทางอ้อมว่า
           การนิยามคำว่า "ความเงียบสงบ" (Silence) ในที่นี้ไม่ใช่สภาวะที่ "ไร้เสียงใดๆ"แต่หมายถึงสภาวะที่เรา "สื่อสาร" (ในที่นี้คือ "การได้ยิน") กับเสียงๆนั้นได้
           แม้ที่ๆหนึ่งเราจะสามารถศึกษาเรื่องเสียงๆหนึ่งในสภาวะแวดล้อมใดๆได้ก็ตาม แทนที่จะพยายามใช้สมาธิและการแยกแยะเสียงต่างๆแสนวุ่นวายเหล่านั้น ทำไมเราไม่พาตัวเองมาในที่ๆเราจะสามารถสื่อสาร หรือได้ยินเสียงๆหนึ่งจริงๆ แล้วใช้สมาธิกับการศึกษานั้นอย่างเต็มที่

+++++++++

           เพื่อนๆ เมื่ออ่านแล้ว มีคำถามหรือข้อคิดเห็นอย่างไรบ้าง? พูดคุยแบ่งปันกันได้นะครับ

           ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะสรุปประเด็นอื่นๆเพิ่มเติมที่อยู่ในการพูดคุยที่น่าสนใจของคุณ Peter Zumthor ต่อครับ แล้วพบกันเร็วๆนี้ครับ

+++++++++

Apinut Architect สถาปนิก นักวิจัยและที่ปรึกษากฎหมายควบคุมอาคาร
061-596-9925 FB page: facebook.com/ApinutArchitect/
#สถาปนิก #สถาปัตยกรรม #วิจัย #นักออกแบบ #รับออกแบบบ้าน #รับออกแบบอาคาร #ให้คำปรึกษา #ปรึกษาเรื่องบ้าน #พูดคุยแนวคิด

+++++++++

ทางผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้นำบทความไปใช้ในจุดประสงค์การค้ารูปแบบใดๆทั้งสิ้น และบทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อ "ถอดความ" ภาษา ผนวกกับการใช้กระบวนการคิด เรียบเรียงด้วยความเข้าใจของตัวผู้เขียนเองเท่านั้น 
ดังนั้นการอ้างอิงถึงบทความนี้ เพื่อใช้ในงานเกี่ยวกับการศึกษา จึงไม่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรง ผู้อ้างอิงควรพิจารณาก่อน 
ทางผู้เขียนบทความจึงขอสงวนสิทธิ์ ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอ้างอิงลักษณะดังกล่าวนั้น
(11.2016)

+++++++++

1 comment:

  1. ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ

    ReplyDelete